วันพุธที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2551

วันกิจกรรมภาษาไทย ๒๕ ก.ย.๕๑

วันกิจกรรมภาษาไทย
กอศ.สกศ.รร.จปร.
วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๑

กองวิชาอักษรศาสตร์ ส่วนวิชาภาษาไทยจะจัดกิจกรรมเกี่ยวกับภาษาไทย เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนนายร้อย (นนร.) ได้ฝึกทักษะการใช้ภาษาไทย โดยมีกิจกรรม ๒ กิจกรรมให้ นนร. ได้ร่วมแสดงความสามารถ คือ การประกวดอ่านข่าว และการร้องเพลงในวรรณคดีไทย

กิจกรรมประกวดอ่านข่าวจะให้ นนร. ได้มีเวลาเตรียมตัวก่อนขึ้นเวที ข่าวที่อ่านมีความยาวประมาณหนึ่งหน้ากระดาษา A4 ซึ่งประกอบด้วยข่าวในพระราชสำนัก ข่าวในประเทศ และข่าวต่างประเทศ ทั้งนี้เหล่าอาจารย์ภูมิใจกับกิจกรรมนี้มาก เพราะเห็นว่า นนร. ฉายแววความเก่งกาจในด้านการอ่านข่าวจากการเรียนหัวข้อการอ่านในชั้นเรียนค่ะ

อีกหนึ่งกิจกรรมที่หลายฝ่ายเรียกร้องกันมา ขอให้ปีนี้จัดเป็นพิเศษคือ การร้องเพลงในวรรณคดีไทย เนื่องจากมีหลายเพลงที่นำเนื้อร้องมาจากบทกลอนในวรรณคดีซึ่งมีทั้งความไพเราะและความเป็นมาที่น่าสนใจ และมีอีกหลายเพลงที่มีความเกี่ยวเนื่องกับวรรณกรรมและวรรณคดีก็จะนำมาขับร้องด้วยเช่นกัน นอกจากเพลงอันไพเราะที่จะได้รับฟังในวันงานแล้ว ผู้ดำเนินรายการจะกล่าวถึงความเป็นมาของบทเพลงต่าง ๆ ด้วย แต่ก่อนที่จะถึงวันงาน ขอยกตัวอย่างบทเพลงหนึ่งซึ่งนำมาจากนิยายอิงประวัติศาสตร์ และเป็นงานประพันธ์น้ำหนึ่งของ "ยาขอบ" ค่ะ นั่นคือเพลง...

"ผู้ชนะสิบทิศ" เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ที่แรกเริ่มเดิมที ชรินทร์ นันทนาคร เป็นผู้ขับร้อง เนื้อเพลงมีดังนี้
ฟ้าลุ่มอิรวดีคืนนี้มีแต่ดาว
แจ่มแสงแวววาว...เด่นอคร้าว สว่างไสว
เสียงคลื่นเร้าฤดีคืนนี้ข้าเปลี่ยวใจ
เหน็บหนาวทรวงใน...แปลกไฉนข้าเศร้าวิญญา
ข้ามาทำศึกลำเค็ญ เหนื่อยแสนยากเย็นไม่เว้นว่างเปล่า
เพื่อศักดิ์ชาวตองอู ถึงจะตายจะอยู่ขอเชิดชูมังตรา
ดวงใจข้ามอบจอมขวัญ มั่นรักต่อกันมิ่งขวัญจันทรา
กุสุมายอดชู้ รักเจ้าเพียงเอ็นดูหวังเชิดชูดวงแด
ไปรบอยู่แห่งไหน ใจคนึงถึงเจ้า เคยเล้าโลมโฉมแม่
ข้ากลับมาเมืองแปร มองเหลียวแลแสนเปลี่ยวเปล่า
ไม่มีแต่เงาข้าเฝ้าอาลัย หัวใจแทบขาด อนาถใจไม่คลาย
เจ็บใจคนรักโดนรังแก ข้าจะเผาเมืองแปรให้มันวอดวาย
จะตายให้เขาลือชาย จะให้เขาลือชาย ว่านามชื่อกู
ผู้ชนะสิบทิศ ผู้ชนะสิบทิศ ผู้ชนะสิบทิศ ผู้ชนะ....สิบทิศ

โปรดคลิกเพื่อฟังเพลงตามลิ้งก์ด้านล่างค่ะ
http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=nutthed&date=09-11-2007&group=89&gblog=87

สำนวนไทยกับการกีฬา


“ภาษาไทยไยไม่รู้”


สำนวนไทยกับการกีฬา


ชื่นใจ


คอลัมน์ภาษาไทยไยไม่รู้ฉบับนี้ ผู้เขียนได้แรงบันดาลใจจากการเชียร์กีฬาโอลิมปิก เพราะเป็นช่วงที่ได้เห็นชาวไทยมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันเวลาเชียร์นะคะ ดังนั้นผู้เขียนจึงขอกล่าวถึงสำนวนไทยที่เกิดจากการแข่งขันกีฬา ซึ่งมีที่มาจากหลายสนามการแข่งขันด้วยกัน แม้กีฬาบางประเภทไม่ได้จัดไว้ในโอลิมปิก แต่คนไทยหลายกลุ่มก็ยังนิยมกันอยู่ค่ะ

สำนวนไทยที่มีที่มาจากการแข่งขันกีฬาหรือเกมการเล่นต่าง ๆ มีอยู่หลายสำนวน ได้แก่

สำนวนแรก “ฟันธง”
ท่านผู้อ่านอาจคุ้นหูกันดีอยู่แล้วกับสำนวนะคะ เพราะหมอดูชื่อดังนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของตนเพื่อยืนยันว่าเรื่องราวต่าง ๆ จะเป็นไปตามคำทำนนี้นายของตนแน่นอน อาจารย์ กาญจนา นาคสกุล ได้กล่าวว่า สำนวน “ฟันธง” มาจากการแข่งขันกีฬาหรือกรีฑา เช่น แข่งรถ แข่งม้า ซึ่งกรรมการผู้ตัดสินจะใช้ธงเป็นสัญญาณฟาดลงมาเมื่อผู้ชนะเข้าเส้นชัย จึงเรียกอาการนี้ว่า ฟันธง หมายถึง ตัดสินเด็ดขาด ต่อมานำมาใช้ในการพูดหมายถึง พูดอย่างเด็ดขาด เช่น กรมอุตุนิยมวิทยายังไม่ฟันธงว่าจะเกิด Storm Surge ในประเทศไทยหรือไม่

สำนวนที่มีที่มาจากสนามมวยมีอยู่หลายสำนวนด้วยกัน อย่างเช่น

คางเหลือง

หมายถึง เกือบตาย หรือ แย่, ลำบากเจียนตาย โดยถือเอาว่า คางเป็นจุดอ่อนในการกระทบแรง ๆ ทำให้เจ็บปวดสาหัส เวลาถูกต่อยต้องรักษาโดยวิธีเอาไพรสีเหลืองมาทาแก้เจ็บปวด เช่น
“เด็กแว้นประสบอุบัติเหตุ ขับรถพุ่งชนเสาไฟฟ้า งานนี้ไม่ตายก็คางเหลือง”

มวยล้ม

หมายถึง ทำให้เห็นเอาจริงเอาจัง แต่แล้วก็ไม่เป็นไปจริง, ทำหลอกลวงเป็นทีท่าเอาจริงแล้วก็ไม่จริง สำนวนนี้มีที่มาจากการแข่งขันชกมวยที่คู่ชกรู้กันว่าจะให้ใครแพ้ใครชนะ หากทำเป็นให้เห็นว่าต่อยกันจริงจัง แต่แล้วก็ให้แพ้ชนะตามที่ตกลงกันไว้ การกระทำเท่ากับเป็นการหลอกลวงคนดู เรียกว่า “มวยล้ม” คือสมยอมกันโกงคนดู เช่น
“ชาวบ้านกลัวว่าจะเกิดมวยล้มต้มคนดู จึงไปที่หน้าโรงพักและชูป้ายให้กำลังใจตำรวจสู้กับสิ่งไม่ถูกต้อง ตามจับคนร้ายมาดำเนินคดีให้ได้”

เลือดเข้าตา

หมายถึง มุทะลุ ดื้อ ทำไม่คิด ฯลฯ มีที่มาจากการชกมวยหรือการต่อสู้ เมื่อถูกต่อยหรือถูกตี ฟันแทงแถวหน้าผาก หรือคิ้วแตกเป็นแผล เมื่อเลือดไหลเข้าตาก็เกิดมานะมุเข้าสู้อย่างไม่คิดชีวิต ดังนี้เมื่อเกิดอะไรที่ทำให้มุมานะสู้อย่างไม่คิดหน้าคิดหลัง หรือคิดได้คิดเสีย เช่น
“นรากรเลือดเข้าตาไล่สามีออกจากบ้าน เนื่องจากนำเงินเก็บไปเล่นการพนันจนหมด”

ย่างสามขุม

หมายถึง ก้าวทีละก้าวช้า ๆ มีที่มาจากลีลาท่าเดินในกระบวนเพลงที่จะเข้าต่อสู้กัน เช่น ท่ากระบี่กระบอง ท่ามวย ท่าฟันดาบ ฯลฯ เมื่อนำมาใช้ในบริบทอื่น เช่น
“หมีป่าย่างสามขุมเข้ามาหมายจะทำร้ายนักท่องเที่ยว”

ศอกกลับ

หมายถึง แก้เรื่องหรือข้อที่ถูกกล่าวหาย้อนกลับไปยังผู้กล่าวหาให้เรื่องตกอยู่กับผู้กล่าวหา สำนวนนี้มาจากการชกมวยไทย เวลาเข้าประชิดใช้ศอกแว้งกลับหลังให้ถูกคู่ต่อสู้ ถ้าถูกแล้วจะถูกอย่างจัง เรียกว่า “ศอกกลับ” นำมาใช้ในการพูดหรือทำอะไรเป็นการแก้เรื่องหรือข้อหาให้ย้อนกลับไปที่ต้นเรื่อง ตัวอย่างเช่น
“ผู้ซื้อกล่าวหาว่าแม่ค้าคนนี้ขายสินค้าราคาแพงมาก แม่ค้าศอกกลับว่า ตอนนี้อะไร ๆ ก็แพง ถ้าขายขาดทุนแล้วใครจะรับผิดชอบ”

ต่อไปเป็นสำนวนที่เกิดจากกีฬา “ฟุตบอล”

ล้ำหน้า

หมายถึง ทำอะไรเกินไป หรือแสดงตัวเกินไปอย่างที่ไม่บังควรจะทำเช่นนั้น หรือไม่ใช่เวลาจะทำเช่นนั้นในเมื่อผู้อื่นเขาไม่ทำ สำนวนนี้เกิดจากสาเหตุที่กองหน้าของฝ่ายหนึ่งขึ้นสูง จนเลยเข้าไปอยู่ด้านหลังของกองหลังอีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่า ออฟไซด์ แต่ก่อนเรียกเป็นคำไทยว่า “ขาดไตรบุรุษ” ซึ่งต่อมาเรียกว่า “ล้ำหน้า” เช่น
“ลูกสาวคนเล็กบ้านนี้กำลังจะแต่งงานล้ำหน้าพี่สาวเดือนหน้านี้แล้ว”

สำนวนที่เกิดจากกีฬาชนไก่ ได้แก่

งงเป็นไก่ตาแตก

หมายถึง งงมากจนทำอะไรไม่ถูก มีที่มาจากการชนไก่ ไก่ใช้เดือยของมันเป็นอาวุธแทง ถ้าแทงถูกตาตาก็แตก ไก่ที่ถูกเดือยแทงตาแตกมองไม่เห็นอะไรก็งง คนที่งงจับต้องทำอะไรไม่ถูกจึงพูดกันว่า “งงเป็นไก่ตาแตก” เช่น
“หนุ่มไปอยู่เมืองนอกหลายปี กลับมาเมืองไทยคราวนี้ก็งงเป็นไก่ตาแตก ไม่รู้จะไปทางไหนดี เพราะเมืองไทยเจริญขึ้นมาก”

สู้ยิบตา หรือ สู้จนเย็บตา

หมายถึง สู้จนถึงที่สุด สู้อย่างไม่ย่อท้อ สู้ไม่มีถอย เหมือนกับการชนไก่ เมื่อไก่ตัวใดถูกแทงจนหน้าตาฉีก เจ้าของจะ “เย็บตา” ให้ แล้วปล่อยให้ไก่ออกไปสู้อีก จึงกลายเป็นสำนวนที่เกี่ยวกับเรื่องราวหรืออะไรก็ตามที่ยอมอยู่สู้อย่างเต็มที่ไม่มีถอย เช่น
“ครอบครัวของดาวยากจน แต่เธอก็สู้ยิบตา พยายามทำงานทุกอย่างที่สุจริตส่งตัวเองเรียนจนจบปริญญาตรี”

ท่านผู้อ่านคงจะเห็นแล้วนะคะว่า สำนวนที่เกิดจากการแข่งขันกีฬามีอยู่มากมายทีเดียว และหากย้อนไปเมื่อสี่ปีที่แล้วน้องอร หรืออุดมพร พลศักดิ์ นักกีฬายกน้ำหนักเหรียญทองโอลิมปิกหญิงคนแรกของงไทยพูดคำว่า “สู้โว้ย” เป็นสำเนียงโคราชก่อนลงสนามแข่งขัน และทำให้คนไทยพูดกันติดปากตั้งแต่นั้นมาเวลาต้องการให้ตนเองหรือให้ใครมีกำลังใจให้สู้ต่อไปจะพูดว่า “สู้โว้ย” อย่างนี้ก็อาจกล่าวได้ว่า สำนวนเกิดจากนักกีฬาได้เช่นกันนะคะ


ข้อมูลเกี่ยวกับสำนวนไทยอื่น ๆ สามารถหาอ่านได้จากหนังสือ “สำนวนไทย” ของ กาญจนาคพันธุ์ ค่ะ และสำหรับฉบันนี้ขอลากันไปก่อน พบกันใหม่ฉบับหน้านะคะ สวัสดีค่ะ