วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2553

ตั้งชื่อเล่นแบบไทย

คนไทยในปัจจุบันนิยมตั้งชื่อเล่นลูกและบุตรหลานเป็นภาษาต่างประเทศ ทำให้กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจการตั้งชื่อเล่นของเด็กไทยในแต่ละพื้นที่เมื่อปี ๒๕๕๐ พบว่า เด็กไทยในปัจจุบันส่วนใหญ่ มีชื่อเล่นเป็นภาษาต่างประเทศจริง และชื่อที่นิยมมากที่สุดคือ ฟลุ๊ค เอ็ม เมย์ สำหรับการตั้งชื่อเป็นภาษาไทยหรือเป็นภาษาไทยท้องถิ่นที่พบมากคือชื่อ ฟ้า แดง แก้ว

กระทรวงวัฒนธรรมมีนโยบายอนุรักษ์ภาษาไทย ภาษาถิ่น และจัดโครงการรณรงค์ให้พ่อแม่คนไทยตั้งชื่อเล่นลูกเป็นภาษาไทยและภาษาท้องถิ่น เพื่อสร้างค่านิยมกระตุ้นให้เกิดความภูมิใจในความเป็นไทย อีกทั้ง ชื่อเล่นภาษาไทยนั้นมีความหมาย สามารถเลือกความหมายที่ดีและถูกใจเพื่อใช้ตั้งชื่อให้ลูกหลานของตนได้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ตัวอย่างชื่อเล่นไทย

กานพลู หมายถึง ชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง รสเผ็ด ใช้ทำยา

ก้ามปู หมายถึง ต้นไม้ขนาดใหญ่ มีดอกสีชมพู เรียกว่า จามจุรี

กาละแมร์ หมายถึง ขนมชนิดหนึ่ง มีเนื้อเหนียว ทำจากแป้งข้าวเหนียว

ขวัญข้าว หมายถึง สิ่งไม่มีตัวตนแต่เชื่อกันว่ามีชีวิตประจำอยู่กับข้าวเปลือก

จำปูน หมายถึง ไม้พุ่ม มีกลิ่นหอม

ช้องนาง หมายถึง ไม้พุ่มกึ่งเลื้อย อายุหลายปี ดอกรูปแตร กลีบดอกสีม่วงอมน้ำเงิน บางชนิดสีขาว โคนกลีบภายในสีเหลือง

ชะเอม หมายถึง สมุนไพรรสชุ่มคอ

ซองพลู หมายถึง ชื่อหอยทะเลกาบคู่ชนิดหนึ่ง สีเหลืองระเรื่อ

ต้นน้ำ หมายถึง แหล่งกำเนิดของน้ำ

ต้นกล้า หมายถึง ต้นข้าวขนาดเล็ก

เตยหอม หมายถึง พันธุ์หนึ่งของต้นเตย

ทองปราย หมายถึง ปืนโบราณชนิดหนึ่ง

ทองภู หมายถึง ชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง ใช้ทำยา

ทานธรรม หมายถึง ความอารี กว้างขวาง

นะดี หมายถึง ทำให้รอด

นะโม หมายถึง คำสวดมนต์ในพุทธศาสนา

น้ำปิง หมายถึง ชื่อแม่น้ำแม่ปิง

นิ้ม หมายถึง ผึ้งตัวเล็กชนิดหนึ่ง

แน่งน้อย หมายถึง รูปทรงบอบบาง

ใบตอง หมายถึง ใบของต้นกล้วย

ใบเตย หมายถึง ใบของต้นเตย

ปราง หมายถึง แก้ม

ปั้นหยา หมายถึง สิ่งปลูกสร้างซึ่งมีหลังคาล้มเข้าหากัน ไม่มีหน้าจั่ว

เป็นแดน หมายถึง เป็นไปเสมอ เป็นประจำ

แป้งร่ำ หมายถึง แป้งที่ปรุงด้วยเครื่องหอม

แป้งหมี่ หมายถึง แป้งข้าวสาลี

เพียงออ หมายถึง ชื่อขลุ่ยชนิดหนึ่ง เสียงทุ้ง

ลลิต หมายถึง น่ารัก น่าเอ็นดู สวยงาม

ลังลอง หมายถึง สุกใส งดงาม

ลัญจ์ หมายถึง สินบน ของกำนัล

ส้มจี๊ด หมายถึง ส้มลูกเล็ก ๆ มีรสเปรี้ยว

ส้มฉุน หมายถึง ส้มพันธุ์หนึ่ง นำมาทำยา

ส้มซ่า หมายถึง ชื่อส้มชนิดหนึ่ง ผลค่อนข้างกลม

ส้มป่อย หมายถึง ชื่อไม้เถาเนื้อแข็งชนิดหนึ่ง ใบเป็นฝอยคล้ายใบชะอม รสเปรี้ยว ใช้ทำยา หรือใช้ฝักสระผมได้

ส้มลิ้ม หมายถึง มะม่วงกวนที่แผ่เป็นแผ่น ๆ

สิตางศุ์ หมายถึง พระจันทร์

ไหมฝัน หมายถึง เส้นหมี่ขาว ทำจากแป้งข้าวเจ้า

อุ้มบุญ หมายถึง มีบุญเก่า

เอื้องเหนือ หมายถึง คำเรียกสาวชาวเหนือ

ไออุ่น หมายถึง ความอบอุ่นจากร่างกาย

ชื่อเล่นแบบไทยข้างต้นเป็นชื่อที่น่ารัก และมีความหมายดีหลายคำ แต่นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น หากสนใจตั้งชื่อลูกหรือบุตรหลานเป็นภาษาไทยพร้อมความหมายดี ๆ สามารถใช้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเป็นคู่มือได้ค่ะ

วัยเบญจเพส

สวัสดีปีใหม่หรืออาจพูดได้ว่า สวัสดีปีขาล ค่ะ ปีนี้เป็นปีเสือซึ่งหลายท่านอาจจะคิดว่า เสือดุ แต่พลเอกหญิง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมอบ สคส.ปี ๕๓ ให้คนไทยทุกคนว่า เสือตัวใหญ่ แต่ไม่ดุ และมีข้อแม้คือ ต้องเป็นเสือที่ขยันทำงานเท่านั้น เสือตัวนี้จึงจะให้ผลดี สิ่งนี้เลยทำให้ผู้เขียนคิดถึงเรื่อง เสือ และตัวอักษร ส.เสือ ที่หลายท่านอาจยังเข้าใจผิดอยู่ คำที่พบบ่อยนั่นคือคำว่า เบญจเพส เพราะหลายท่านเข้าใจว่าใช้ ศ.ศาลา เช่นเดียวกับคำว่า เพศ แต่ความจริงแล้วทั้งสองคำมีที่มาต่างกัน จึงทำให้เขียนต่างกัน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปี ๒๕๔๒ อธิบายความหมายของคำว่า “เพศ” และ “เบญจเพส” ไว้ว่า

เพศ เป็นคำนาม หมายถึง รูปที่แสดงให้รู้ว่าหญิงหรือชาย มาจากภาษาบาลีว่า เวส และมาจากภาษาสันสกฤตว่า เวษ

เบญจเพส เป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง ยี่สิบห้า เช่น อายุถึงเบญจเพส มาจากภาษาบาลีว่า ปญฺจวีส

จากข้อมูลตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานทำให้ทราบว่า ที่มาของคำต่างกัน จึงเป็นเหตุให้ความหมายและการเขียนต่างกัน คำว่า เบญจเพส มาจากคำว่า “เบญจะ หรือ ปัญจะ” หมายถึง ห้า รวมกับคำว่า “วีส วีสะ หรือ วีสติ” หมายถึง ยี่สิบ รวมแล้วจึงหมายถึง ยี่สิบห้า

ความหมายของ เบญจเพส โดยทั่วไปหมายถึง อายุยี่สิบห้า แต่หมอดูบางกลุ่มโดยเฉพาะหมอดูสมัยก่อนให้ความหมายของคำว่า เบญจเพส กว้างออกไป คือหมายถึงอายุ ๒๕ ๓๕ ๔๕ ๕๕ ๖๕ ๗๕..... หรือตั้งแต่ ๒๕ และลงท้ายด้วยเลข ๕ ทั้งหมด และเชื่อว่า บุคคลที่มีอายุในช่วงเบญจเพสจะมีเคราะห์ เพราะเป็นช่วงที่ยมบาลท่านตรวจสอบกรรมดี/กรรมเลวในรอบปีที่ผ่านมาว่าจะให้ขึ้นอายุใหม่หรือไม่ บางคนสอบผ่าน บางคนสอบไม่ผ่าน ดังนั้น คนโบราณจึงไม่อยากให้ใครทำอะไรในช่วงเบญจเพส เพราะดวงไม่ดีเหมือนคนกำลังถูกตรวจสอบ บางคนอาจทำความดีมาทั้งปีแต่หากช่วงเบญจเพสเผลอไปทำผิดก็อาจถูกปรับให้สอบตกได้

ความเชื่อเรื่อง เบญจเพส ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรืออีกพระนามหนึ่งว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ หรือสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสรรเพชญ์ เป็นพระราชดโอรสในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง มีพระเชษฐาคือ สมเด็จเจ้าฟ้าไชย มีพระอนุชาคือ เจ้าฟ้าอภัยทศ พระไตรภูวนาทิตยวงศ์ และพระอินทราชา ครั้นวันพฤหัสบดี แรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีวอก หรือราว พ.ศ.๒๑๙๙ สมเด็จพระนารายณ์มีพระชนม์ ๒๕ พรรษา นับว่าเข้าเกณฑ์เบญจเพส จึงได้โปรดให้ทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกบรมราชาภิเษกเสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา มีพระนามว่า “สมเด็จพระบรมราชาธิราช รามาธิบดีศรีสรรเพชญ์ บรมมหาจักรพรรดิศวรราชาธิราช ราเมศวรธราธิบดีศรีสฤษดิรักษสังหาร จักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทราธาดาธิบดี ศรีสุวิบูลย์คุณขนิฐจิตรรุจี ตรีภูวนาทิตยฤทธิพรหม เทพาดิเทพบดินทร ภูมินทราธิราชรัตนากาศุวงษ์ องค์เอกทศรุฐ วิสุหธยโสดม บรมอาชาวาธยาศัย สมุทัยดโรมนต์อนนตคุณ วิบุลยสุนทร บวรธรรมิกราชเดโชไชย ไตรโลกนารถบดินทร์วิรินทราธิราชมนชาตุ พิชิตทิศพลญาณสมันต์มหันตวิปผาราฤทธิวิไชย ไอสวรรยาธิปัตขัติยวงษ์องค์ปรมาธิบดี ตรีภูวนาธิเบศร์ โลกเชษฐวิสุทธมกุฎรัตโมฬี ศรีประทุม สุริยวงศ์องค์สรรเพชญ์พุทธางกูรบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว”

นอกจากนี้ ในช่วงพระชนมพรรษา ๒๕ พรรษา พระองค์ทรงระมัดระวังพระองค์เป็นพิเศษ จึงมีพระราชดำรัสให้พระมหาราชครูหรือพระมหาราชครูมเหธร ซึ่งเป็นปุโรหิต หรือข้าราชการผู้ใหญ่ในราชสำนัก และเป็นที่นับถือของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้แต่งเรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ (ตอนต้น) เพื่อใช้เล่นหนังใหญ่เมื่อครั้งฉลองพระชนมพรรษาครบเบญจเพส (พ.ศ.๒๑๙๙) พระมหาราชครูได้แต่งไว้เพียง ๒ ตอนคือ ตอนที่ ๑ และตอนที่ ๒ เท่านั้น เพราะท่านมหาราชครูถึงแก่อนิจกรรมเสียก่อน จากนั้น สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงทรงพระราชนิพนธ์ต่อในตอนกลางของเรื่อง

ความเชื่อเรื่องเบญจเพสในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน

วรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนยังปรากฏหลักฐานว่า พลายแก้วเคยได้รับคำทำนายว่า

“สมภารฟังหลานเห็นเหลือห้าม หยิบกระดานดูยามตามวิถี

คูณหารดูตามคัมภีร์มี เอาวันคืนเดือนปีของเณรพลาย

บวกกันเข้าดูก็รู้แท้ เห็นแน่ดังอินทรเนตรหมาย

ชะตาดีที่ทหารเจียวหลานชาย แกก็ทายว่าเจ้าแก้วนี้ปดกู

คิดว่าทุกข์อย่างไรออกวายวุ่น มิรู้ว่าเจ้าประคุณข้าเล่นชู้

เอ็งจำไว้ในคำของตาดู สึกไปจะได้อยู่สมดังใจ

สู่ขอหอห้องทำทุนสิน อยู่กินแต่หาถึงเท่าใดไม่

จะพลัดพรากจำจากกำจัดไกล มันจะมีผัวใหม่มันทิ้งมึง

เมื่ออายุยี่สิบห้าเบญจเพส มีมีเหตุด้วยเคราะห์เข้ามาถึง

ต้องจองจำโซ่ตรวนเขาตราตรึง อายุสี่สิบมึงจะได้ดี

ท่านสมภารวัดแคได้ทำนายทายทักพลายแก้วไว้ดังข้างต้น โดยเฉพาะในช่วงอายุยี่สิบห้าปีก็เชื่อว่าจะมีเคราะห์ หรือมีเหตุร้าย ซึ่งเนื้อหาความตามท้องเรื่องหลังจากนั้นก็เป็นจริงตามที่สมภารได้ทำนายเอาไว้ทุกประการ

ภาษาไทยไยไม่รู้ฉบับนี้ ไม่ได้มุ่งเน้นให้เชื่อว่า เมื่ออายุถึงวัยเบญจเพสแล้วจะมีเคราะห์หรือได้รับความลำบาก แต่หากต้องการนำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องและเรื่องราวของ เบญจเพส ที่ได้กล่าวถึงไว้ในวรรณคดีไทยข้างต้น และโปรดอย่าลืม ทุกครั้งเวลาเขียนคำว่า เบญจเพส ต้องสะกดด้วย ส.เสือ เท่านั้นนะคะ สวัสดีปีเสือค่ะ

พระมหาธีรราชของชาติไทย

วันที่ ๒๕ พ.ย. ของทุกปีคือวันมหาธีรราชเจ้า หรือวันคล้ายวันเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอันเป็นประโยชน์มหาศาลแก่ประชาชนชาวไทยนานัปการ ได้แก่ การก่อตั้งลูกเสือและกองเสือป่า การเริ่มใช้นามสกุล คำนำหน้า นาย นางสาว การกำหนดให้ใช้ตรงไตรรงค์เป็นธงประจำชาติ การดำเนินงานด้านการประปา โรงพยาบาล การตั้งธนาคารออมสิน เป็นต้น พระองค์ทรงพระปรีชาชาญทั้งในด้านการปกครอง การพัฒนา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านอักษรศาสตร์ จึงทำให้พระองค์ได้รับการยกย่องและถวายพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า”

ความหมายของคำว่า “มหาธีรราชเจ้า”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับ พ.ศ.๒๕๔๒ ได้ให้ความหมายของคำว่า “มหาราช” และ “ธีร” ไว้ดังนี้

มหาราช หมายถึง คำซึ่งมหาชนถวายเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดิน หรือหมายถึงชื่อธงประจำพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน เรียกว่า ธงมหาราช อีกความหมายหนึ่งคือ ชื่อกัณฑ์ที่ ๑๑ ของมหาชาติ

ธีร, ธีระ หมายถึง นักปราชญ์

ดังนั้น คำว่า “มหาธีรราชเจ้า” คือ พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์ที่เปี่ยมไปด้วยพระสติปัญญาและพระปรีชาชาญ

ที่มาของคำว่า “มหาราช”

การถวายพระราชสมัญญาว่า “มหาราช” แด่พระมหากษัตริย์ของไทยในอดีตนั้น ไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ แต่เป็นมติของมหาชนในสมัยต่อมาที่รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จึงได้ถวายพระราชสมัญญาต่อท้ายพระนามว่ามหาราช หรือพระราชสมัญญาอื่นที่แสดงถึงพระเกียรติคุณเฉพาะพระองค์ซึ่งยอมรับในการขานพระนามสืบมา

จุดแรกเริ่มของการถวายพระราชสมัญญา “มหาราช” ต่อท้ายพระนามพระมหากษัตริย์นั้นสันนิษฐานว่า เริ่มมีขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) หรือในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) เนื่องจากเป็นสมัยที่เริ่มมีการศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ของชาติและบรรพบุรุษมากขึ้น ทำให้ประจักษ์ถึงวีรกรรมและพระราชอัจฉริยภาพของพระมหากษัตริย์ในสมัยนั้น ๆ ที่มีพระเกียรติคุณอันยิ่งใหญ่ จนได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า “มหาราช”

ที่มาของพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า”

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” เพราะทรงเป็นปราชญ์ทางอักษรศาสตร์ และยังทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมประเภทต่างๆ เป็นจำนวนมาก ในปัจจุบันสามารถรวบรวมไว้ได้จำนวน ๑,๒๓๖ เรื่อง นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงบัญญัติศัพท์และทรงตั้งนามสกุลพระราชทานจำนวน ๖,๔๓๒ นามสกุล

พระราชนิพนธ์

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเชี่ยวชาญในด้านอักษรศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง ทรงพระราชนิพนธ์ร้อยกรองและร้อยกรองได้ทั้ง โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน โดยแบ่งออกเป็น ๗ หมวด ได้แก่

๑. โขนและละคร

๒. พระราชดำรัส พระบรมราโชวาท พระบรมราชานุศาสนีย์ เทศนาปลุกใจเสือป่า

๓. นิทานและบทชวนหัว

๔. บทความที่ลงหนังสือพิมพ์

๕. ร้อยกรอง

๖. สารคดี

๗. อื่น ๆ เช่น พระราชบันทึก พระราชหัตถเลขา

พระราชนิพนธ์ของพระองค์เป็นงานวรรณกรรมที่มีคุณค่าทั้งด้านเนื้อหาและความงามในด้านภาษา จนกระทั่งวรรณคดีสโมสรได้ยกย่องพระราชนิพนธ์หลายเรื่องให้เป็นวรรณกรรมเอก ได้แก่ บทละครพูดเรื่องหัวใจนักรบ บทละครพูดคำฉันท์ และมัทนะพาธา

นอกจากนี้ ยังมีบทพระราชนิพนธ์ที่เป็นที่รู้จักกันดีอีกหลายเรื่อง ได้แก่ เมืองไทยจงตื่นเถิด พระนลคำหลวง บทละครวิวาห์พระสมุทร และหนังสือแปลเรื่อง โรเมโอและจูเลียต นินทาสโมสร ตามใจท่าน และเวนิสวานิช เป็นต้น ตัวอย่างความตอนหนึ่งจากเรื่องเวนิสวานิชที่มีชื่อเสียงมาก จนกระทั่งนำไปทำเป็นบทเพลง คือ

อันความกรุณาปรานี จะมีใครบังคับก็หาไม่

หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน

เป็นสิ่งดีสองชั้นอันปลื้มใจ แห่งผู้ให้และผู้รับสมถวิล

เป็นกำลังเลิศพลังอื่นทั้งสิ้น เจ้าแผ่นดินผู้ทรงพระกรุณาฯ

บทพระราชนิพนธ์บทหนึ่งของพระองค์ที่แสดงถึงความสำคัญของวรรณกรรมและศิลปกรรม คือ

นานาประเทศล้วน นับถือ

คนที่รู้หนังสือ แต่งได้

ใครเกลียดอักษรคือ คนป่า

ใครเยาะกวีไซร้ แน่แท้ คนดง

อย่ากลัวถูกติพ้น เกินสมัย หน่อยเลย

ใครเยาะก็ช่างใคร อย่าเก้อ

เราไทย อักษรไทย เราแต่ง สิอา

ใครติซิคือเส้อ ไม่รู้สีสา

นอกจากพระราชนิพนธ์ที่พระองค์ทรงพระนิพนธ์ขึ้นเป็นจำนวนมากแล้ว พระองค์ยังมีพระนามแฝงหรือนามปากกาอีกหลายพระนาม ซึ่งพระองค์ทรงใช้วาระและโอกาสต่าง ๆ กัน ได้แก่

เรื่องเกี่ยวกับการเมืองและบทปลุกใจ ใช้พระนามแฝงว่า อัศวพาหุ

บทละคร ใช้พระนามแฝงว่า ศรีอยุธยา นายแก้วนายขวัญ พระขรรค์เพชร

บันเทิงคดีและสารคดีต่าง ๆ ใช้พระนามแฝงว่า รามจิตติ

เรื่องที่เกี่ยวกับทหารเรือ ใช้พระนามแฝงว่า พันแหลม

นิทานต่าง ๆ ใช้พระนามแฝงว่า น้อยลา สุครีพ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระปรีชาสามารถในด้านอักษรศาสตร์ดังที่กล่าวมาข้างต้น อีกทั้งยังทรงพระปรีชาในด้านต่าง ๆ และได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์มหาศาลแก่ประชาชนและประเทศนานัปการ พระองค์จึงทรงได้รับการยกย่องให้ทรงเป็น “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” หรือมหาราชผู้ทรงเป็นจอมปราชญ์ นอกจากประชาชนชาวไทยที่ยกย่องถวายพระเกียรติคุณแล้ว องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก ได้ยกย่องพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกพระองค์หนึ่งด้วย