วันพุธที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2551

สำนวนไทยกับการกีฬา


“ภาษาไทยไยไม่รู้”


สำนวนไทยกับการกีฬา


ชื่นใจ


คอลัมน์ภาษาไทยไยไม่รู้ฉบับนี้ ผู้เขียนได้แรงบันดาลใจจากการเชียร์กีฬาโอลิมปิก เพราะเป็นช่วงที่ได้เห็นชาวไทยมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันเวลาเชียร์นะคะ ดังนั้นผู้เขียนจึงขอกล่าวถึงสำนวนไทยที่เกิดจากการแข่งขันกีฬา ซึ่งมีที่มาจากหลายสนามการแข่งขันด้วยกัน แม้กีฬาบางประเภทไม่ได้จัดไว้ในโอลิมปิก แต่คนไทยหลายกลุ่มก็ยังนิยมกันอยู่ค่ะ

สำนวนไทยที่มีที่มาจากการแข่งขันกีฬาหรือเกมการเล่นต่าง ๆ มีอยู่หลายสำนวน ได้แก่

สำนวนแรก “ฟันธง”
ท่านผู้อ่านอาจคุ้นหูกันดีอยู่แล้วกับสำนวนะคะ เพราะหมอดูชื่อดังนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของตนเพื่อยืนยันว่าเรื่องราวต่าง ๆ จะเป็นไปตามคำทำนนี้นายของตนแน่นอน อาจารย์ กาญจนา นาคสกุล ได้กล่าวว่า สำนวน “ฟันธง” มาจากการแข่งขันกีฬาหรือกรีฑา เช่น แข่งรถ แข่งม้า ซึ่งกรรมการผู้ตัดสินจะใช้ธงเป็นสัญญาณฟาดลงมาเมื่อผู้ชนะเข้าเส้นชัย จึงเรียกอาการนี้ว่า ฟันธง หมายถึง ตัดสินเด็ดขาด ต่อมานำมาใช้ในการพูดหมายถึง พูดอย่างเด็ดขาด เช่น กรมอุตุนิยมวิทยายังไม่ฟันธงว่าจะเกิด Storm Surge ในประเทศไทยหรือไม่

สำนวนที่มีที่มาจากสนามมวยมีอยู่หลายสำนวนด้วยกัน อย่างเช่น

คางเหลือง

หมายถึง เกือบตาย หรือ แย่, ลำบากเจียนตาย โดยถือเอาว่า คางเป็นจุดอ่อนในการกระทบแรง ๆ ทำให้เจ็บปวดสาหัส เวลาถูกต่อยต้องรักษาโดยวิธีเอาไพรสีเหลืองมาทาแก้เจ็บปวด เช่น
“เด็กแว้นประสบอุบัติเหตุ ขับรถพุ่งชนเสาไฟฟ้า งานนี้ไม่ตายก็คางเหลือง”

มวยล้ม

หมายถึง ทำให้เห็นเอาจริงเอาจัง แต่แล้วก็ไม่เป็นไปจริง, ทำหลอกลวงเป็นทีท่าเอาจริงแล้วก็ไม่จริง สำนวนนี้มีที่มาจากการแข่งขันชกมวยที่คู่ชกรู้กันว่าจะให้ใครแพ้ใครชนะ หากทำเป็นให้เห็นว่าต่อยกันจริงจัง แต่แล้วก็ให้แพ้ชนะตามที่ตกลงกันไว้ การกระทำเท่ากับเป็นการหลอกลวงคนดู เรียกว่า “มวยล้ม” คือสมยอมกันโกงคนดู เช่น
“ชาวบ้านกลัวว่าจะเกิดมวยล้มต้มคนดู จึงไปที่หน้าโรงพักและชูป้ายให้กำลังใจตำรวจสู้กับสิ่งไม่ถูกต้อง ตามจับคนร้ายมาดำเนินคดีให้ได้”

เลือดเข้าตา

หมายถึง มุทะลุ ดื้อ ทำไม่คิด ฯลฯ มีที่มาจากการชกมวยหรือการต่อสู้ เมื่อถูกต่อยหรือถูกตี ฟันแทงแถวหน้าผาก หรือคิ้วแตกเป็นแผล เมื่อเลือดไหลเข้าตาก็เกิดมานะมุเข้าสู้อย่างไม่คิดชีวิต ดังนี้เมื่อเกิดอะไรที่ทำให้มุมานะสู้อย่างไม่คิดหน้าคิดหลัง หรือคิดได้คิดเสีย เช่น
“นรากรเลือดเข้าตาไล่สามีออกจากบ้าน เนื่องจากนำเงินเก็บไปเล่นการพนันจนหมด”

ย่างสามขุม

หมายถึง ก้าวทีละก้าวช้า ๆ มีที่มาจากลีลาท่าเดินในกระบวนเพลงที่จะเข้าต่อสู้กัน เช่น ท่ากระบี่กระบอง ท่ามวย ท่าฟันดาบ ฯลฯ เมื่อนำมาใช้ในบริบทอื่น เช่น
“หมีป่าย่างสามขุมเข้ามาหมายจะทำร้ายนักท่องเที่ยว”

ศอกกลับ

หมายถึง แก้เรื่องหรือข้อที่ถูกกล่าวหาย้อนกลับไปยังผู้กล่าวหาให้เรื่องตกอยู่กับผู้กล่าวหา สำนวนนี้มาจากการชกมวยไทย เวลาเข้าประชิดใช้ศอกแว้งกลับหลังให้ถูกคู่ต่อสู้ ถ้าถูกแล้วจะถูกอย่างจัง เรียกว่า “ศอกกลับ” นำมาใช้ในการพูดหรือทำอะไรเป็นการแก้เรื่องหรือข้อหาให้ย้อนกลับไปที่ต้นเรื่อง ตัวอย่างเช่น
“ผู้ซื้อกล่าวหาว่าแม่ค้าคนนี้ขายสินค้าราคาแพงมาก แม่ค้าศอกกลับว่า ตอนนี้อะไร ๆ ก็แพง ถ้าขายขาดทุนแล้วใครจะรับผิดชอบ”

ต่อไปเป็นสำนวนที่เกิดจากกีฬา “ฟุตบอล”

ล้ำหน้า

หมายถึง ทำอะไรเกินไป หรือแสดงตัวเกินไปอย่างที่ไม่บังควรจะทำเช่นนั้น หรือไม่ใช่เวลาจะทำเช่นนั้นในเมื่อผู้อื่นเขาไม่ทำ สำนวนนี้เกิดจากสาเหตุที่กองหน้าของฝ่ายหนึ่งขึ้นสูง จนเลยเข้าไปอยู่ด้านหลังของกองหลังอีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่า ออฟไซด์ แต่ก่อนเรียกเป็นคำไทยว่า “ขาดไตรบุรุษ” ซึ่งต่อมาเรียกว่า “ล้ำหน้า” เช่น
“ลูกสาวคนเล็กบ้านนี้กำลังจะแต่งงานล้ำหน้าพี่สาวเดือนหน้านี้แล้ว”

สำนวนที่เกิดจากกีฬาชนไก่ ได้แก่

งงเป็นไก่ตาแตก

หมายถึง งงมากจนทำอะไรไม่ถูก มีที่มาจากการชนไก่ ไก่ใช้เดือยของมันเป็นอาวุธแทง ถ้าแทงถูกตาตาก็แตก ไก่ที่ถูกเดือยแทงตาแตกมองไม่เห็นอะไรก็งง คนที่งงจับต้องทำอะไรไม่ถูกจึงพูดกันว่า “งงเป็นไก่ตาแตก” เช่น
“หนุ่มไปอยู่เมืองนอกหลายปี กลับมาเมืองไทยคราวนี้ก็งงเป็นไก่ตาแตก ไม่รู้จะไปทางไหนดี เพราะเมืองไทยเจริญขึ้นมาก”

สู้ยิบตา หรือ สู้จนเย็บตา

หมายถึง สู้จนถึงที่สุด สู้อย่างไม่ย่อท้อ สู้ไม่มีถอย เหมือนกับการชนไก่ เมื่อไก่ตัวใดถูกแทงจนหน้าตาฉีก เจ้าของจะ “เย็บตา” ให้ แล้วปล่อยให้ไก่ออกไปสู้อีก จึงกลายเป็นสำนวนที่เกี่ยวกับเรื่องราวหรืออะไรก็ตามที่ยอมอยู่สู้อย่างเต็มที่ไม่มีถอย เช่น
“ครอบครัวของดาวยากจน แต่เธอก็สู้ยิบตา พยายามทำงานทุกอย่างที่สุจริตส่งตัวเองเรียนจนจบปริญญาตรี”

ท่านผู้อ่านคงจะเห็นแล้วนะคะว่า สำนวนที่เกิดจากการแข่งขันกีฬามีอยู่มากมายทีเดียว และหากย้อนไปเมื่อสี่ปีที่แล้วน้องอร หรืออุดมพร พลศักดิ์ นักกีฬายกน้ำหนักเหรียญทองโอลิมปิกหญิงคนแรกของงไทยพูดคำว่า “สู้โว้ย” เป็นสำเนียงโคราชก่อนลงสนามแข่งขัน และทำให้คนไทยพูดกันติดปากตั้งแต่นั้นมาเวลาต้องการให้ตนเองหรือให้ใครมีกำลังใจให้สู้ต่อไปจะพูดว่า “สู้โว้ย” อย่างนี้ก็อาจกล่าวได้ว่า สำนวนเกิดจากนักกีฬาได้เช่นกันนะคะ


ข้อมูลเกี่ยวกับสำนวนไทยอื่น ๆ สามารถหาอ่านได้จากหนังสือ “สำนวนไทย” ของ กาญจนาคพันธุ์ ค่ะ และสำหรับฉบันนี้ขอลากันไปก่อน พบกันใหม่ฉบับหน้านะคะ สวัสดีค่ะ

1 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

ตาบอดคลำช้างเป็นสำนวนกีฬาไหมค่ะ