วันที่ ๒๕ พ.ย. ของทุกปีคือวันมหาธีรราชเจ้า หรือวันคล้ายวันเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอันเป็นประโยชน์มหาศาลแก่ประชาชนชาวไทยนานัปการ ได้แก่ การก่อตั้งลูกเสือและกองเสือป่า การเริ่มใช้นามสกุล คำนำหน้า นาย นางสาว การกำหนดให้ใช้ตรงไตรรงค์เป็นธงประจำชาติ การดำเนินงานด้านการประปา โรงพยาบาล การตั้งธนาคารออมสิน เป็นต้น พระองค์ทรงพระปรีชาชาญทั้งในด้านการปกครอง การพัฒนา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านอักษรศาสตร์ จึงทำให้พระองค์ได้รับการยกย่องและถวายพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า”
ความหมายของคำว่า “มหาธีรราชเจ้า”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับ พ.ศ.๒๕๔๒ ได้ให้ความหมายของคำว่า “มหาราช” และ “ธีร” ไว้ดังนี้
มหาราช หมายถึง คำซึ่งมหาชนถวายเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดิน หรือหมายถึงชื่อธงประจำพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน เรียกว่า ธงมหาราช อีกความหมายหนึ่งคือ ชื่อกัณฑ์ที่ ๑๑ ของมหาชาติ
ธีร, ธีระ หมายถึง นักปราชญ์
ดังนั้น คำว่า “มหาธีรราชเจ้า” คือ พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์ที่เปี่ยมไปด้วยพระสติปัญญาและพระปรีชาชาญ
ที่มาของคำว่า “มหาราช”
การถวายพระราชสมัญญาว่า “มหาราช” แด่พระมหากษัตริย์ของไทยในอดีตนั้น ไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ แต่เป็นมติของมหาชนในสมัยต่อมาที่รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จึงได้ถวายพระราชสมัญญาต่อท้ายพระนามว่ามหาราช หรือพระราชสมัญญาอื่นที่แสดงถึงพระเกียรติคุณเฉพาะพระองค์ซึ่งยอมรับในการขานพระนามสืบมา
จุดแรกเริ่มของการถวายพระราชสมัญญา “มหาราช” ต่อท้ายพระนามพระมหากษัตริย์นั้นสันนิษฐานว่า เริ่มมีขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) หรือในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) เนื่องจากเป็นสมัยที่เริ่มมีการศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ของชาติและบรรพบุรุษมากขึ้น ทำให้ประจักษ์ถึงวีรกรรมและพระราชอัจฉริยภาพของพระมหากษัตริย์ในสมัยนั้น ๆ ที่มีพระเกียรติคุณอันยิ่งใหญ่ จนได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า “มหาราช”
ที่มาของพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า”
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” เพราะทรงเป็นปราชญ์ทางอักษรศาสตร์ และยังทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมประเภทต่างๆ เป็นจำนวนมาก ในปัจจุบันสามารถรวบรวมไว้ได้จำนวน ๑,๒๓๖ เรื่อง นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงบัญญัติศัพท์และทรงตั้งนามสกุลพระราชทานจำนวน ๖,๔๓๒ นามสกุล
พระราชนิพนธ์
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเชี่ยวชาญในด้านอักษรศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง ทรงพระราชนิพนธ์ร้อยกรองและร้อยกรองได้ทั้ง โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน โดยแบ่งออกเป็น ๗ หมวด ได้แก่
๑. โขนและละคร
๒. พระราชดำรัส พระบรมราโชวาท พระบรมราชานุศาสนีย์ เทศนาปลุกใจเสือป่า
๓. นิทานและบทชวนหัว
๔. บทความที่ลงหนังสือพิมพ์
๕. ร้อยกรอง
๖. สารคดี
๗. อื่น ๆ เช่น พระราชบันทึก พระราชหัตถเลขา
พระราชนิพนธ์ของพระองค์เป็นงานวรรณกรรมที่มีคุณค่าทั้งด้านเนื้อหาและความงามในด้านภาษา จนกระทั่งวรรณคดีสโมสรได้ยกย่องพระราชนิพนธ์หลายเรื่องให้เป็นวรรณกรรมเอก ได้แก่ บทละครพูดเรื่องหัวใจนักรบ บทละครพูดคำฉันท์ และมัทนะพาธา
นอกจากนี้ ยังมีบทพระราชนิพนธ์ที่เป็นที่รู้จักกันดีอีกหลายเรื่อง ได้แก่ เมืองไทยจงตื่นเถิด พระนลคำหลวง บทละครวิวาห์พระสมุทร และหนังสือแปลเรื่อง โรเมโอและจูเลียต นินทาสโมสร ตามใจท่าน และเวนิสวานิช เป็นต้น ตัวอย่างความตอนหนึ่งจากเรื่องเวนิสวานิชที่มีชื่อเสียงมาก จนกระทั่งนำไปทำเป็นบทเพลง คือ
อันความกรุณาปรานี จะมีใครบังคับก็หาไม่
หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน
เป็นสิ่งดีสองชั้นอันปลื้มใจ แห่งผู้ให้และผู้รับสมถวิล
เป็นกำลังเลิศพลังอื่นทั้งสิ้น เจ้าแผ่นดินผู้ทรงพระกรุณาฯ
บทพระราชนิพนธ์บทหนึ่งของพระองค์ที่แสดงถึงความสำคัญของวรรณกรรมและศิลปกรรม คือ
นานาประเทศล้วน นับถือ
คนที่รู้หนังสือ แต่งได้
ใครเกลียดอักษรคือ คนป่า
ใครเยาะกวีไซร้ แน่แท้ คนดง
อย่ากลัวถูกติพ้น เกินสมัย หน่อยเลย
ใครเยาะก็ช่างใคร อย่าเก้อ
เราไทย อักษรไทย เราแต่ง สิอา
ใครติซิคือเส้อ ไม่รู้สีสา
นอกจากพระราชนิพนธ์ที่พระองค์ทรงพระนิพนธ์ขึ้นเป็นจำนวนมากแล้ว พระองค์ยังมีพระนามแฝงหรือนามปากกาอีกหลายพระนาม ซึ่งพระองค์ทรงใช้วาระและโอกาสต่าง ๆ กัน ได้แก่
เรื่องเกี่ยวกับการเมืองและบทปลุกใจ ใช้พระนามแฝงว่า อัศวพาหุ
บทละคร ใช้พระนามแฝงว่า ศรีอยุธยา นายแก้วนายขวัญ พระขรรค์เพชร
บันเทิงคดีและสารคดีต่าง ๆ ใช้พระนามแฝงว่า รามจิตติ
เรื่องที่เกี่ยวกับทหารเรือ ใช้พระนามแฝงว่า พันแหลม
นิทานต่าง ๆ ใช้พระนามแฝงว่า น้อยลา สุครีพ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น