วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2553

วัยเบญจเพส

สวัสดีปีใหม่หรืออาจพูดได้ว่า สวัสดีปีขาล ค่ะ ปีนี้เป็นปีเสือซึ่งหลายท่านอาจจะคิดว่า เสือดุ แต่พลเอกหญิง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมอบ สคส.ปี ๕๓ ให้คนไทยทุกคนว่า เสือตัวใหญ่ แต่ไม่ดุ และมีข้อแม้คือ ต้องเป็นเสือที่ขยันทำงานเท่านั้น เสือตัวนี้จึงจะให้ผลดี สิ่งนี้เลยทำให้ผู้เขียนคิดถึงเรื่อง เสือ และตัวอักษร ส.เสือ ที่หลายท่านอาจยังเข้าใจผิดอยู่ คำที่พบบ่อยนั่นคือคำว่า เบญจเพส เพราะหลายท่านเข้าใจว่าใช้ ศ.ศาลา เช่นเดียวกับคำว่า เพศ แต่ความจริงแล้วทั้งสองคำมีที่มาต่างกัน จึงทำให้เขียนต่างกัน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปี ๒๕๔๒ อธิบายความหมายของคำว่า “เพศ” และ “เบญจเพส” ไว้ว่า

เพศ เป็นคำนาม หมายถึง รูปที่แสดงให้รู้ว่าหญิงหรือชาย มาจากภาษาบาลีว่า เวส และมาจากภาษาสันสกฤตว่า เวษ

เบญจเพส เป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง ยี่สิบห้า เช่น อายุถึงเบญจเพส มาจากภาษาบาลีว่า ปญฺจวีส

จากข้อมูลตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานทำให้ทราบว่า ที่มาของคำต่างกัน จึงเป็นเหตุให้ความหมายและการเขียนต่างกัน คำว่า เบญจเพส มาจากคำว่า “เบญจะ หรือ ปัญจะ” หมายถึง ห้า รวมกับคำว่า “วีส วีสะ หรือ วีสติ” หมายถึง ยี่สิบ รวมแล้วจึงหมายถึง ยี่สิบห้า

ความหมายของ เบญจเพส โดยทั่วไปหมายถึง อายุยี่สิบห้า แต่หมอดูบางกลุ่มโดยเฉพาะหมอดูสมัยก่อนให้ความหมายของคำว่า เบญจเพส กว้างออกไป คือหมายถึงอายุ ๒๕ ๓๕ ๔๕ ๕๕ ๖๕ ๗๕..... หรือตั้งแต่ ๒๕ และลงท้ายด้วยเลข ๕ ทั้งหมด และเชื่อว่า บุคคลที่มีอายุในช่วงเบญจเพสจะมีเคราะห์ เพราะเป็นช่วงที่ยมบาลท่านตรวจสอบกรรมดี/กรรมเลวในรอบปีที่ผ่านมาว่าจะให้ขึ้นอายุใหม่หรือไม่ บางคนสอบผ่าน บางคนสอบไม่ผ่าน ดังนั้น คนโบราณจึงไม่อยากให้ใครทำอะไรในช่วงเบญจเพส เพราะดวงไม่ดีเหมือนคนกำลังถูกตรวจสอบ บางคนอาจทำความดีมาทั้งปีแต่หากช่วงเบญจเพสเผลอไปทำผิดก็อาจถูกปรับให้สอบตกได้

ความเชื่อเรื่อง เบญจเพส ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรืออีกพระนามหนึ่งว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ หรือสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสรรเพชญ์ เป็นพระราชดโอรสในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง มีพระเชษฐาคือ สมเด็จเจ้าฟ้าไชย มีพระอนุชาคือ เจ้าฟ้าอภัยทศ พระไตรภูวนาทิตยวงศ์ และพระอินทราชา ครั้นวันพฤหัสบดี แรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีวอก หรือราว พ.ศ.๒๑๙๙ สมเด็จพระนารายณ์มีพระชนม์ ๒๕ พรรษา นับว่าเข้าเกณฑ์เบญจเพส จึงได้โปรดให้ทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกบรมราชาภิเษกเสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา มีพระนามว่า “สมเด็จพระบรมราชาธิราช รามาธิบดีศรีสรรเพชญ์ บรมมหาจักรพรรดิศวรราชาธิราช ราเมศวรธราธิบดีศรีสฤษดิรักษสังหาร จักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทราธาดาธิบดี ศรีสุวิบูลย์คุณขนิฐจิตรรุจี ตรีภูวนาทิตยฤทธิพรหม เทพาดิเทพบดินทร ภูมินทราธิราชรัตนากาศุวงษ์ องค์เอกทศรุฐ วิสุหธยโสดม บรมอาชาวาธยาศัย สมุทัยดโรมนต์อนนตคุณ วิบุลยสุนทร บวรธรรมิกราชเดโชไชย ไตรโลกนารถบดินทร์วิรินทราธิราชมนชาตุ พิชิตทิศพลญาณสมันต์มหันตวิปผาราฤทธิวิไชย ไอสวรรยาธิปัตขัติยวงษ์องค์ปรมาธิบดี ตรีภูวนาธิเบศร์ โลกเชษฐวิสุทธมกุฎรัตโมฬี ศรีประทุม สุริยวงศ์องค์สรรเพชญ์พุทธางกูรบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว”

นอกจากนี้ ในช่วงพระชนมพรรษา ๒๕ พรรษา พระองค์ทรงระมัดระวังพระองค์เป็นพิเศษ จึงมีพระราชดำรัสให้พระมหาราชครูหรือพระมหาราชครูมเหธร ซึ่งเป็นปุโรหิต หรือข้าราชการผู้ใหญ่ในราชสำนัก และเป็นที่นับถือของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้แต่งเรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ (ตอนต้น) เพื่อใช้เล่นหนังใหญ่เมื่อครั้งฉลองพระชนมพรรษาครบเบญจเพส (พ.ศ.๒๑๙๙) พระมหาราชครูได้แต่งไว้เพียง ๒ ตอนคือ ตอนที่ ๑ และตอนที่ ๒ เท่านั้น เพราะท่านมหาราชครูถึงแก่อนิจกรรมเสียก่อน จากนั้น สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงทรงพระราชนิพนธ์ต่อในตอนกลางของเรื่อง

ความเชื่อเรื่องเบญจเพสในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน

วรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนยังปรากฏหลักฐานว่า พลายแก้วเคยได้รับคำทำนายว่า

“สมภารฟังหลานเห็นเหลือห้าม หยิบกระดานดูยามตามวิถี

คูณหารดูตามคัมภีร์มี เอาวันคืนเดือนปีของเณรพลาย

บวกกันเข้าดูก็รู้แท้ เห็นแน่ดังอินทรเนตรหมาย

ชะตาดีที่ทหารเจียวหลานชาย แกก็ทายว่าเจ้าแก้วนี้ปดกู

คิดว่าทุกข์อย่างไรออกวายวุ่น มิรู้ว่าเจ้าประคุณข้าเล่นชู้

เอ็งจำไว้ในคำของตาดู สึกไปจะได้อยู่สมดังใจ

สู่ขอหอห้องทำทุนสิน อยู่กินแต่หาถึงเท่าใดไม่

จะพลัดพรากจำจากกำจัดไกล มันจะมีผัวใหม่มันทิ้งมึง

เมื่ออายุยี่สิบห้าเบญจเพส มีมีเหตุด้วยเคราะห์เข้ามาถึง

ต้องจองจำโซ่ตรวนเขาตราตรึง อายุสี่สิบมึงจะได้ดี

ท่านสมภารวัดแคได้ทำนายทายทักพลายแก้วไว้ดังข้างต้น โดยเฉพาะในช่วงอายุยี่สิบห้าปีก็เชื่อว่าจะมีเคราะห์ หรือมีเหตุร้าย ซึ่งเนื้อหาความตามท้องเรื่องหลังจากนั้นก็เป็นจริงตามที่สมภารได้ทำนายเอาไว้ทุกประการ

ภาษาไทยไยไม่รู้ฉบับนี้ ไม่ได้มุ่งเน้นให้เชื่อว่า เมื่ออายุถึงวัยเบญจเพสแล้วจะมีเคราะห์หรือได้รับความลำบาก แต่หากต้องการนำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องและเรื่องราวของ เบญจเพส ที่ได้กล่าวถึงไว้ในวรรณคดีไทยข้างต้น และโปรดอย่าลืม ทุกครั้งเวลาเขียนคำว่า เบญจเพส ต้องสะกดด้วย ส.เสือ เท่านั้นนะคะ สวัสดีปีเสือค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น: